BGC โชว์การเติบโตโดดเด่นสวนตลาด Q2/64 ทำกำไรสุทธิ 122 ล้าน พุ่งแรง 53%



บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส หรือ BGC เติบโตโดดเด่นสวนกระแส ไตรมาส 2/2564 ทำกำไรสุทธิ 122 ล้านบาท พุ่งแรง 53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รับดีมานด์บรรจุภัณฑ์ที่แข็งแกร่งและเริ่มรับรู้รายได้จากการเข้าลงทุนใน BVP และ BGP ผู้ถือหุ้นเตรียมเฮรับบอร์ดอนุมัติปันผลระหว่างกาล 0.12 บาทต่อหุ้น เตรียมขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ พร้อมไฟเขียวบริษัทย่อย ‘BGP’ ขยายการลงทุนบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน กำลังการผลิตสูงสุด 50 ล้านเมตรต่อปี คาดแล้วเสร็จในไตรมาสแรกปี 2566 รับแผนเติบโตและยกระดับสู่ Total Packaging Solutions ประเมิน
ดีมานด์บรรจุภัณฑ์ครึ่งปีหลังยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ในไทยและภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 บริษัทฯ สามารถทำผลการดำเนินงานเติบโตอย่างโดดเด่น และ
ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส
2 ของปีที่ผ่านมาที่มีการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศและห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผลการดำเนินงานล่าสุดในไตรมาส 2/2564 มีรายได้จากการขาย 3,150 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 122 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตอกย้ำความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจและศักยภาพการเติบโตที่โดดเด่น

 

ปัจจัยที่บริษัทฯ สามารถทำผลการดำเนินงานเติบโตได้ดี มาจากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่แข็งแกร่ง โดยบริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อสินค้าตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการด้านการผลิตภายในโรงงาน โดยประสิทธิภาพในการผลิต (Efficiency Rate) ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 86.5% และในขณะเดียวกันบริษัทฯ เริ่มรับรู้รายได้จากการลงทุนในบริษัท บางกอกบรรจุภัณฑ์ จำกัด (BVP) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กระดาษ และบริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (BGP) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายฟิล์มพลาสติก ฝาพลาสติก ขวด PET หลอดพรีฟอร์ม ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ตามกลยุทธ์ยกระดับธุรกิจสู่ Total Packaging Solutions ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปีนี้ที่มีรายได้จากการขาย 6,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 311 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

“การเข้าซื้อกิจการดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ มี Product Mixed ที่หลากหลายยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีเฉพาะบรรจุภัณฑ์แก้ว และยังทำให้บริษัทฯ มีอำนาจต่อรองที่ดีและสามารถเพิ่มยอดขายจากลูกค้าแต่ละราย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการต้นทุนด้านต่าง ๆ โดยคาดว่าในปีนี้ทั้ง 2 บริษัทฯ (BVP และ BGP) จะมียอดขายรวมกันประมาณ 2,000 ล้านบาท” นายศิลปรัตน์ กล่าว

 

จากผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทฯ จึงมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตรา 0.12 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 83.33 ล้านบาท กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ และจะจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 10 กันยายน 2564

 

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติงบลงทุน 176 ล้านบาท สำหรับ BGP เพื่อเดินหน้าขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) กำลังการผลิตสูงสุด 50 ล้านเมตรต่อปี ซึ่งเป็นการเพิ่มพอร์ตสินค้าและความหลากหลายด้านบรรจุภัณฑ์ ตอบสนองความต้องการกลุ่มถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนภายในประเทศที่มีอัตราเติบโตสูง ขยายผลิตภัณฑ์เข้าสู่ธุรกิจกลางน้ำ และรองรับเป้าหมายการเติบโตของกลุ่มบรรจุภัณฑ์ในอนาคต คาดว่าจะเริ่มการลงทุนขยายกำลังการผลิตในไตรมาส 1/2565 และแล้วเสร็จเริ่มผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายได้ภายในไตรมาส 1/2566 ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแผนการลงทุนที่จะขับเคลื่อนการเติบโตเพื่อบรรลุเป้าหมายรายได้ 2.5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2025

 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGC กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังยังมั่นใจว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้ตามแผนงานที่วางไว้ และผลักดันผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ทั้งปีเติบโตใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 ในปี 2562  เนื่องจากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์แก้วและบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศและห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงวางเป้าหมายสร้างยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง แม้มีปัจจัยลบและความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดยเชื่อว่าหากกระจายวัคซีนแก่ประชาชนได้มากขึ้นและสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย จะส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ทยอยเปิดกิจการ ทำให้ดีมานด์บรรจุภัณฑ์มีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปีถือเป็นไฮซีซั่นหรือฤดูการขายสินค้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อผลประกอบการของบริษัทฯ

 

ขณะที่กลยุทธ์ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทจะเร่งเพิ่มประสิทธิภาพบริหารต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น และเพิ่มสัดส่วนรายได้ส่งออกเป็น 10% ของรายได้รวม พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ดีมานด์ในตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนปรับระดับสต๊อกสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านต้นทุน ทั้งการเพิ่มประเภทพลังงานที่ใช้เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มสัดส่วนการใช้เศษแก้วในเตาหลอมเพื่อลดการใช้พลังงาน รวมถึงนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมอุณหภูมิในเตาหลอมแก้ว ช่วยลดความสูญเสียของพลังงาน อย่างไรก็ตามสำหรับราคาโซดาแอช (Soda ash) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตแก้วมีราคาลดลงอย่างต่อเนื่องและเศษแก้วยังคงมีราคาทรงตัว